ประวัติศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม-ชัยนาท              

           ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏจันรเกษม-ชัยนาท เปิดดำเนินการเรียนการสอนเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2543

เปิดสอนระดับปริญญาตรี ภาคนอกเวลาราชการ และทำการเรียนการสอนเฉพาะวันเสาร์-วันอาทิตย์โดยมี  ผู้ช่วยศาสตราจารย์    ศิริกุล ผลิศักดิ์ เป็นผู้อำนวยการ ระยะแรกเป็นศูนย์การศึกษาจันทรเกษม เทคนิคชัยนาท โดยใช้พื้นที่อาคารของวิทยาลัยเทคนิคชัยนาทเป็นสถานที่ทำการเรียนการสอน นับเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งแรกของจังหวัดชัยนาท

              ต่อมาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยนาท กระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้ใช้อาคารสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษา อำเภอสรรคบุรี (อาคาร ส.ป.อ.) และอาคารหอประชุมเอ็มเค (MK) ในปี พ.ศ. 2547 และปี พ.ศ. 2548 ได้เปิดการเรียนการสอนนักศึกษาภาคปกติ เป็นปีแรก ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม-ชัยนาท ได้ดำเนินการสืบเนื่องจากการขอใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์ ณ ที่ดินบ้านดอนอรัญญิก ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท โดยมี นายอารยะ วิวัฒน์วานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาทในขณะนั้น (พ.ศ. 2542 - พ.ศ. 2544) ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนให้มีการขอใช้ที่ดินของราชการเพื่อการศึกษาและทางสถาบันราชภัฏจันทรเกษม โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิริกุล ผลิศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและบริการวิชาการในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มในการขยายพื้นที่การศึกษาสู่สังคมท้องถิ่น พร้อมทั้งการเข้าถึงการศึกษาของคนในชุมชน และพัฒนาชุมชนให้กับเยาวชนในเขตจังหวัดชัยนาท และจังหวัดใกล้เคียง

           คณะกรรมการจังหวัดชัยนาท มีมติเห็นชอบให้ใช้ประโยชน์ที่ดินและถอดสภาพที่ดินจาก ที่ดิน สปก. เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2546 กรมที่ดินได้เสนอกระทรวงมหาดไทย โดย รองศาสตราจารย์เทื้อน ทองแก้ว  อธิการบดีสถาบันราชภัฏจันทรเกษม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิริกุล ผลิศักดิ์ โดยกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศขึ้นทะเบียนที่ดิน หมู่ที่ 7-8 ของบ้านอรัญญิก ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาทรวมพื้นที่ในการใช้ประโยชน์จากที่ดินจำนวน 326 ไร่ 85 ตารางวา ซึ่งตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2548 พร้อมประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่มที่ 122 ตอนที่ 24ง วันที่ 24 มีนาคม 2548 ให้ใช้ประโยชน์ในการจัดการศึกษา การเรียนและการสอนระดับอุดมศึกษา

          วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2548 มีประกาศกระทรวงมหาดไทยให้มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมใช้   ประโยชน์ในราชการในพื้นที่ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เนื้อที่ประมาณ 326 ไร่ 85   ตารางวา เป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม – ชัยนาท

         วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม-ชัยนาท ทำพิธีตักดินลงเสาต้นแรกเพื่อเตรียมสร้างอาคารเรียนที่ได้รับความอนุเคราะห์การจัดสร้างจากพระครูไพศาล ชัยกิจ หรือ หลวงปู่ฤาษี ตาไฟ เจ้าอาวาสวัดเทพหิรัณย์ (หนองทาระภู) ตำบลบ้านเชี่ยน อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เมตตาสร้างอาคารเรียนเทพหิรัณย์ มหามงคลรัฐ เป็นอาคารตึกสูง 4 ชั้นโดยใช้งบประมาณในการก่อสร้าง รวม 21 ล้านบาทโดยมีรองศาสตราจารย์มานพ พราหมณโชติ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยในขณะนั้น การก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นอาคารเรียนหลักแรก และเปิดทำการเรียนการสอนในปี 2554 โดยมีนักศึกษา ภาคปกติ และภาคนอกเวลาราชการ (ย้ายจากวิทยาลัยเทคนิคชัยนาท และอาคาร ส.ป.อ.)

        สภามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มีมติเห็นชอบการจัดตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม-ชัยนาทเป็นส่วนงานภายในของมหาวิทยาลัยมีฐานะเทียบเท่าคณะ ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 12/2550  เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550 และมีประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เรื่อง การจัดตั้งส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เรื่อง จัดตั้งส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ประกาศ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม-ชัยนาท เป็นส่วนงานภายในของมหาวิทยาลัย

        พ.ศ. 2550 นางทองคำ เมฆโต มอบเงินจำนวน 15 ล้านบาท และมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมสมทบอีก 2.5 ล้านบาท เพื่อสร้างอาคารเรียนคุณแม่ทองคำ เมฆโต แล้วเสร็จปลายปี พ.ศ. 2552 เป็นอาคาร เรียนหลังที่ 2 ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของอาคารเทพหิรัณย์ มหามงคลรัฐ

        พ.ศ. 2555 สร้างอาคารหอประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม-ชัยนาท ใช้งบประมาณพัฒนาศูนย์การศึกษาฯ จำนวนเงิน 3.84 ล้านบาท

        พ.ศ. 2559 สร้างหอพักนักศึกษา 4 ชั้น ขนาด 40 ห้อง จำนวน 2 อาคาร (อาคารจันทร์มงคล 1 และ 2) ซึ่งได้รับงบประมาณจากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมจำนวนเงิน 25,700,000 บาท วันที่ 9 มีนาคม 2559ดำเนินการวางผังการก่อสร้าง จัดทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2559 และดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2560 โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สถาพร ถาวรอธิวาสน์ เป็นผู้อำนวยการ และรองศาสตราจารย์ ดร. สุมาลี ไชยศุภรากุล เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยในขณะนั้น

       5 ธันวาคม พ.ศ. 2564  วัดเสมียนนารี พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร มอบโคจำนวน 33 ตัวที่ได้รับการถ่ายชีวิตจากผู้ที่มีจิตศรัทธา ให้กับทางศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม-ชัยนาท เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านการศึกษา และการบริการชุมชน รับมอบโดยโดยมี ดร.วิจิตร จารุโณประถัมภ์ ผู้อำนวยการ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ราเชนทร์ เหมือนชอบ อธิการบดีมหาวิทยาลัย

  ปรัชญา

"ให้โอกาสทางการศึกษา นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน"


วิสัยทัศน์

“แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นและสร้างสังคมอุดมคุณธรรม”(Life Long Learning for Leads Localization Moral Society)


อัตลักษณ์ของบัณฑิต(Identity)

“บัณฑิตนักปฏิบัติ ซื่อสัตย์ อดทน มีจิตอาสา ก้าวหน้าเทคโนโลยี”


เอกลักษณ์(Uniqueness)

“บัณฑิตนักปฏิบัติ และเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับทุกคน”


พันธกิจ

1. การบริหารจัดการแบบธรรมาภิบาล
2. พัฒนาการเรียนการสอนแก่บัณฑิต ให้มีความรู้คู่คุณธรรม และมีศักยภาพสู่มาตรฐานวิชาชีพ
3. วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ อนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นและถ่ายทอดสู่สังคม
4. บริการทางวิชาการที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น
5. อนุรักษ์ ทำนุบำรุงศาสนาและศิลปวัฒนธรรม


นโยบาย

ศูนย์มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม-ชัยนาท นโยบายกรอบทิศทางการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

1. ด้านการบริหารตามนโยบายธรรมาภิบาล ตามนโยบายเน้นการมีส่วนร่วม โปร่งใส ตรวจสอบได้ การบริหารความเสี่ยง และความมีคุณธรรมตามหลักธรรมาภิบาล
2. ด้านบุคลากรส่งเสริมพัฒนาทักษะการทำงานและการบริการ ด้านการพัฒนาคุณวุฒิและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
3. ด้านการประกันคุณภาพประกาศนโยบายการประกันคุณภาพให้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารอย่างต่อเนื่องและดำเนินการจัดทำรายงานการประกันคุณภาพ
ตามเกณฑ์กำหนดและนำผลการประเมินมาจัดทำแผนปรับปรุงตามทิศทางของมหาวิทยาลัย
4.ด้านการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนยึดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติและส่งเสริมพัฒนานักศึกษาตามอัตลักษณ์จุดเน้นของมหาวิทยาลัย
5. ด้านการวิจัยบริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม สนับสนุนการพัฒนาศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง การรวบรวมภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และบูรณาการสู่การเรียนการสอนและการวิจัยเพื่ออนุรักษและการนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชุมชน
6. ด้านชุมชนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน รวมกลุ่มประชาคม วัด ศูนย์ฯ และชุมชนในการพัฒนาแผนชุมชน ให้เกิดความสามัคคีและการพัฒนาอย่างยั่งยืน


 

Zip Locksmith